เครื่องถ้วยฮางิ

Standard

เครื่องถ้วยฮางิที่ทำโดยเตาที่ทำเครื่องถ้วยสำหรับเจ้าผู้ครองแคว้นฮางิใช้แบ่งเป็นเครื่องถ้วยที่ทำจากเตาที่มัตทสึโมโตะ (松本)สายหนึ่ง และเตาที่ฟุกาวะ(深川)อีกสายเหนึ่ง

แต่เดิมทีเดียวเครื่องถ้วยนี้ไม่ได้เรียก เครื่องถ้วยฮางิ แต่เรียกตามชื่อสถานที่ตั้งของเตา เป็นเครื่องถ้วยมัตทสึโมโตะ กับเครื่องถ้วยฟุกาวะ ที่มัตทสึโมโตะมี ๓ เตา คือ ซากะ「坂」, มิวะ「三輪」และฮายาชิ「林」 ที่ฟุกาวะก็มี ๓ เตา ได้แก่ ซากะกุระ「坂倉」, ซากะซากิ「倉崎」และอากะงาวะ「赤川」 ต่อเมื่อเข้าสู่สมัยเมจิ (ราว ร.๕ ของราชวงศ์จักรี) จึงนิยมเรียกชื่อเป็น เครื่องถ้วยฮางิ

เครื่องถ้วยฮางิ เริ่มทำจากช่างเกาหลีตระกูลลีสองพี่น้อง ลีชาคุโค และลีเค เริ่มทำกันที่ นากะโนะคุระ ในหมู่บ้านมัตทสึโมโตะ ภายหลังลีชาคุโคผู้พี่ได้แยกตัวออกมาสร้างเตาที่ฟุกาวะ โดยทางตระกูลลีผู้น้องลีเค ได้รับชื่อจากเจ้าเมืองให้ชื่อญี่ปุ่นว่า โคไรซาเอมอน และได้รับมอบหมายให้เป็นบ้านหลักในการดูแลการทำเครื่องถ้วย

เครื่องถ้วยที่ทำในยุคแรกๆของเครื่องถ้วยฮางิ จึงเป็นเครื่องถ้วยแบบเกาหลี สีนำ้เคลือบหลักๆได้แก่ สีผิวปี่แป๋ ซึ่งมีสีเหลืองอมส้ม และสีขาว ตกอยู่ในยุคของเจ้าสำนักเตาซากะรุ่นที่ ๑-๓ ต่อมาหลังจากนี้ได้พบดินที่เรียกว่า ไดโดทสึจิ (大道土) ที่มีแร่เหล็กปนอยู่น้อย และมีสีขาว ทำให้สามารถทำเครื่องถ้วยที่เนื้อดินละเอียดมีความปราณีต จึงเรียกเครื่องถ้วยที่ทำก่อนใช้ดินไดโดทสึจิว่า เครื่องถ้วยฮางิโบราณ แยกจากเครื่องถ้วยฮางิที่ทำหลังจากนั้น

เมื่อเข้ายุคเมจิ ที่ญี่ปุ่นหันหน้าเข้าหาวัฒนธรรมตะวันตก และทิ้งรากเหง้า่ของศิลปะวัฒนธรรมเดิมของตน งานศิลปต่างๆที่อยู่ได้โดยการอุปถัมภ์ของชนชั้นปกครองเข้าสู่ความตกต่ำเพราะขาดผู้อุปถัมภ์ กระทั้งเข้าสู่สมัยไทโช พิธีชาได้กลับฟื้นตัวขึ้น ซากะกุระ ชินเบ ที่ ๑๒ จากเตาฮางิฟุงาวะ ได้ปั้นงานเลียนเครื่องถ้วยสำคัญในการครอบครองของสำนักชาโอโมเตะเซงเกะ เครื่องถ้วยฮางิจึงผูกสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับพิธีชา และขึ้นแท่นเครื่องถ้วยชั้นนำ

ถ้วยชา ผลงาน ซากะ โคไรซาเอมอน ที่ ๑

Leave a comment